สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Business Sophistication ระบบธุรกิจเข้มแข็ง = ระบบนิเวศนวัตกรรมเติบโต

26 พฤษภาคม 2568 188

Business Sophistication ระบบธุรกิจเข้มแข็ง = ระบบนิเวศนวัตกรรมเติบโต


#GIISeries “ระบบธุรกิจ (Business Sophistication)” เป็นหนึ่งในปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมภายใต้การจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ GII ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความสามารถของภาคธุรกิจในการสนับสนุนและขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านโครงสร้าง ความร่วมมือ และการลงทุนเชิงนวัตกรรมส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ (Economic Flow) และ การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง ทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และผลลัพธ์เชิงนวัตกรรม สะท้อนถึงระดับความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการผลิตและใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ ประเทศที่มีระบบธุรกิจที่ซับซ้อนและยืดหยุ่นมักจะสามารถเปลี่ยนไอเดียให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่มีคุณค่าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า นอกจากนี้ ระบบธุรกิจที่มีความซับซ้อนยังเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) ที่ยั่งยืน เพราะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนานวัตกรรม

💼 ปัจจัยด้านระบบธุรกิจพิจารณาจากองค์ประกอบปัจจัยความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรและการส่งเสริมการลงทุน จากปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย ได้แก่ บุคลากรที่มีความรู้ (Knowledge Workers) การเชื่อมโยงนวัตกรรม (Innovation Linkages) และการดูดซับทางความรู้ (Knowledge Absorption)  เป้าหมายเพื่อวัดความสามารถของภาคธุรกิจในการสนับสนุนและขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเน้นการใช้บุคลากรที่มีทักษะสูง ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรวิจัย และความสามารถในการรับและประยุกต์ใช้ความรู้จากภายนอก

ระบบธุรกิจที่เข้มแข็งจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เชื่อมโยงการลงทุนด้านนวัตกรรมกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีหลายองค์ประกอบที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน NIA ในบทบาทของ “Focal Conductor” หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม จึงมีการทำงานที่สอดรับตัวชี้วัดเหล่านี้ โดยเฉพาะด้าน “การเชื่อมโยงนวัตกรรม (Innovation Linkages)” กลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาครัฐ เพื่อเร่งการพัฒนาและนำองค์ความรู้ไปใช้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนนวัตกรรม กระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสทางตลาด 

🔗 สำหรับตัวชี้วัดด้าน “การเชื่อมโยงนวัตกรรม” องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จะพิจารณาคะแนนจากตัวชี้วัดย่อยต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 
• ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม (University-Industry R&D Collaboration) 
• สถานะการส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (State of Cluster Development) 
• ข้อตกลงของกิจการร่วมค้า/พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Joint Venture/Strategic Alliance, deals/bn PPP$ GDP) 
• กลุ่มสิทธิบัตรที่ยื่นให้องค์กรอย่างน้อยสององค์กร (Patent Families / bn PPP$ GDP) 

กรณีประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนปัจจัยด้านระบบธุรกิจ ตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจ อาทิ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมักอยู่ในอันดับต้นๆ ของ GII เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีระบบธุรกิจที่ซับซ้อนอย่างมาก บริษัทเอกชนอย่าง Novartis และ Nestlé ลงทุนด้าน R&D เป็นสัดส่วนสูงของรายได้ ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือเชิงลึกกับมหาวิทยาลัย เช่น ETH Zurich และ EPFL อีกทั้งยังมีระบบนิเวศของการเริ่มต้นธุรกิจ (Startup Ecosystem) ที่เชื่อมโยงกับแหล่งทุนและองค์ความรู้ระดับโลก หรือประเทศสิงคโปร์ สามารถสร้างความได้เปรียบด้านระบบธุรกิจด้วยการลงทุนด้านบุคลากร ส่งเสริมคลัสเตอร์เทคโนโลยีขั้นสูง และสร้างแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาค ทำให้ภาคธุรกิจของสิงคโปร์สามารถรับมือกับเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน (Disruptive Tech) ได้อย่างคล่องตัว

🎓 อย่างไรก็ตามการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม NIA ได้เชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการที่มาขอทุนสนับสนุน ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยได้จัดตั้ง NIA Northern Regional Connect ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาคแห่งแรกของไทย ที่มีเป้าหมายในการสร้างโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของนวัตกรรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาไทย

💰 ขณะเดียวกัน NIA ยังได้มีการส่งเสริมการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ผ่านการให้ทุนในแพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation Business Platform) ซึ่งครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ เช่น
• ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก (High-Value Food and Fruit for Export)
• ธุรกิจนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและการบริหารจัดการพืช และสัตว์เศรษฐกิจหลักของประเทศตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain of Economic Plants and Animals)
• ธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า (Circular and Low-Carbon Economy)
• ธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy)
• ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี ด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech)
• ธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) 

👍🏻 จึงเปรียบได้ว่า “นวัตกรรม” คือเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ส่วน “ระบบธุรกิจ” คือ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการที่เครื่องยนต์จะเดินหน้าได้นั้นยังต้องอาศัยกลไกภายในที่สอดประสานการทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเปรียบได้กับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ  NIA จึงพร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เร่งเครื่องพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจเข้มแข็ง พร้อมแข่งขันในเวทีโลกได้

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.nia.or.th/GII-Indicator-Framework
https://nia.or.th/frontend/bookshelf/ORrZSAwRPuyUt/635a58327dbae.pdf 
https://nia.or.th/2022/index.php/Info-NIANorthernRegionalConnect
https://www.nia.or.th/event/detail/17819